10 สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ควรไปเยือนก่อนสายเกินไป
28 ม.ค.
นิตยสารทราเวล แอนด์
ลีเชอร์ เผยรายชื่อ 10 สุดยอดสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่เสี่ยงต่อการถูกทำลาย
หรือมีแนวโน้มที่จะสูญสลายหายไปในอนาคตอันใกล้
พร้อมทั้งแนะนำให้รีบเดินทางไปเยือนก่อนที่จะสายเกินไป…
มาดูกันว่าโลกเรากำลังจะสูญเสียสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติแห่งใดไปบ้าง
แนวปะการังใหญ่ เกรท แบร์ริเออร์ รีฟ
เป็นที่น่าเสียดายว่าแนวปะการังใหญ่ หรือ “เกรท
แบร์ริเออร์ รีฟ” ในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ที่มีความยาวกว่า 2,000
กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 215,000 ตารางไมล์ (345,000
ตารางกิโลเมตร) หรือมีขนาดใหญ่พอๆ กับประเทศญี่ปุ่น
อาจสูญสิ้นความอุดมสมบูรณ์และกลายเป็นสุสานปะการังภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ.2573)
องค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติออสเตรเลียระบุว่า
หากน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นเพียง 3–5
องศาฟาเรนไฮต์ ประกอบกับมีค่าความเป็นกรดมากขึ้น จะทำให้พื้นที่ 97% ของ “เกรท
แบร์ริเออร์ รีฟ” เกิดปะการังฟอกขาวและปราศจากสิ่งมีชีวิตในที่สุด
***
อุทยานแห่งชาติกลาเซียร์
อุทยานแห่งชาติกลาเซียร์ในรัฐมอนแทนา สหรัฐอเมริกา
เป็นอีกหนึ่งสิ่งมหัศจรรย์ธรรมชาติที่กำลังได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน…
เมื่อปี ค.ศ. 1850 (พ.ศ. 2393) ที่นี่มีธารน้ำแข็งมากถึง 150 แห่ง
ปัจจุบันเหลือเพียง 26 แห่งเท่านั้น นอกจากนี้
อากาศที่ร้อนขึ้นยังส่งผลให้พรรณไม้ผลิบานก่อนฤดูกาลอีกด้วย
รายงานขององค์กรพิทักษ์สัตว์ป่าแห่งสหรัฐอเมริการะบุว่า
ภาวะโลกร้อนส่งผลให้วงจรชีวิตของพืชและสัตว์ไม่สัมพันธ์กัน
เพราะนกที่ช่วยทำหน้าที่ผสมเกสรจะมาไม่ทันช่วงที่ดอกไม้ผลิบาน
ดังนั้นเมื่อพวกมันมาถึงก็จะไม่มีแมลงและน้ำหวานให้กินเป็นอาหารเหมือนเช่นเคย
***
สาธารณรัฐมัลดีฟส์
มัลดีฟส์
เป็นประเทศเกาะในมหาสมุทรอินเดียที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลโดยเฉลี่ยเพียง 1.5
เมตร จึงเป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ต่ำสุดในโลก แถมยังมี “จุดสูงสุด”
ต่ำที่สุดในโลกอีกต่างหาก (พื้นที่ๆ
มีความสูงมากที่สุดในประเทศ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 2.4
เมตรเท่านั้น) ประเทศนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะจมหายไปในอนาคตอันใกล้
ด้วยเหตุนี้ ประธานาธิบดี มูฮัมมัด นาชีด
จึงเรียกร้องให้นานาชาติหันมาสนใจปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยทำตัวเป็นแบบอย่างด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาเผาเปลือกมะพร้าว
เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนการใช้พลังงานจากฟอสซิล (เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ)
และยังก่อตั้งโรงไฟฟ้าพลังลมและแสงอาทิตย์
โดยหวังให้เป็นประเทศที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2020
(ประธานาธิบดี มูฮัมมัด นาชีด
กล่าวว่า ถ้าทั่วโลกไม่ช่วยกันหยุดปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ มัลดีฟส์จะจมหายไปภายในเวลา 7
ปี) และถ้าแผนดังกล่าวไม่ได้ผล หรือระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอีกราว 3 ฟุต
ก็คงต้องอพยพประชาชนทั้งประเทศ (ราว 380,000
คน) ไปอยู่บนดินแดนของประเทศเพื่อนบ้าน
(ประธานาธิบดี มูฮัมมัด นาชีด
มีแผนนำเงินรายได้จากการท่องเที่ยวไปซื้อที่ดินในประเทศอินเดีย ศรีลังกา
และออสเตรเลีย)
***
ธารน้ำแข็งคิลิมันจาโร
ธารน้ำแข็งคิลิมันจาโร
อยู่บนยอดเขาคิลิมันจาโรในเขตประเทศแทนซาเนีย
ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นภูเขาไฟยอดเดี่ยวสูงที่สุดในโลก
และเป็นยอดเขาสูงที่สุดในทวีปแอฟริกา
เห็นภาพแล้วก็คงรู้ว่าธารน้ำแข็งที่ปกคลุมยอดเขาแห่งนี้กำลังละลายหายไป
บ้างก็ว่าเป็นเพราะโลกร้อน
บ้างก็ว่าเป็นเพราะอุณหภูมิบนยอดเขาคิลิมันจาโรไม่เคยอยู่เหนือจุดเยือกแข็ง (เนื่องจากอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร) แต่ที่แน่ๆ
ธารน้ำแข็งบนยอดเขาคิลิมันจาโรละลายหายไปแล้วประมาณ 80%
***
หมู่เกาะอินโดนีเซีย
“อาร์มู ซูซานดี้” นักอุตุนิยมวิทยาในกรุงจาการ์ตา
คาดการณ์ว่า อินโดนีเซียซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “หมู่เกาะใหญ่ที่สุดในโลก” (ประกอบด้วย 17,508 เกาะโดยประมาณ) จะสูญเสียเกาะ
2,000 แห่ง และที่ดินอีกราว 154,000 ตารางไมล์
(398,858 ตารางเมตร) ภายในปี ค.ศ. 2080 (พ.ศ.
2623)
แม้แต่กรุงจาการ์ตาซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็จะจมน้ำราว
1 ใน 4 ของพื้นที่ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ.
2593)
***
คาบสมุทรแอนตาร์กติก
ปัจจุบันนี้ คาบสมุทรแอนตาร์กติก (ตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของทวีปแอนตาร์กติกา)
มีปริมาณน้ำแข็งในทะเลน้อยลงกว่าเดิมถึง 40% และคาดว่าในอีก 20-40
ปีข้างหน้าจะไม่มีน้ำแข็งก่อตัวในทะเลแถบนี้อีกต่อไป
แม้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้การเดินทางไปยังแถบขั้วโลกใต้สะดวกขึ้น
แต่สัตว์น้ำก็ลดจำนวนลงอย่างฮวบฮาบ เพราะน้ำแข็งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ “เคย”
เมื่อไม่มีน้ำแข็งจำนวนเคยก็จะลดลง ส่งผลให้จำนวน ปลาวาฬ แมวน้ำ และเพนกวิน
ในแถบนี้ลดลงตามไปด้วย (ปัจจุบัน
สัตว์เหล่านี้ลดจำนวนลงแล้วถึง 70%)
***
เทือกเขาแอลป์ในเขตประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ทุกวันนี้บนเทือกเขาแอล์ปสูงชันในช่วงหน้าร้อน
แทบไม่หลงเหลือร่องรอยของหิมะที่เคยปกคลุมยอดเขาในช่วงหนาว
ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการก่อตัวและคงอยู่ของธารน้ำแข็ง
(ธารน้ำแข็งเกิดจากการที่หิมะตกลงมาแล้วสะสมกันจนหนา 45-60 เมตร
แล้วเกิดการเคลื่อนตัวลงมาอย่างช้าๆ ก่อนค่อย ๆ ละลายกลายเป็นลำธาร)
และธารน้ำแข็งที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงก็คือ ธารน้ำแข็งโรน
ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำโรนที่ไหลผ่านสวิตเซอร์แลนด์ไปสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ด้วยความยาว 813 กิโลเมตร
เมื่อก่อนนักท่องเที่ยวเดินออกจากประตูโรงแรมไม่กี่ก้าวก็สามารถเดินลอดถ้ำธารน้ำแข็งโรน
แต่ปัจจุบันต้องเดินไกลขึ้นมาก ทราเวล แอนด์ ลีเชอร์
จึงแนะนำให้เดินทางไปเยือนแม่น้ำและทะเลสาบสวยๆ ในสวิตเซอร์แลนด์ เช่น
ทะเลสาบเจนีวา ก่อนที่ธารน้ำแข็งโรนจะละลายหายไป
***
ป่าโกงกางซันดาร์บานส์
ป่าโกงกางซันดาร์บานส์
เป็นพื้นที่ป่าชายเลนแบบผืนเดี่ยวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
โดยมีเนื้อที่มากถึง 4,000 ตารางไมล์ (10,360 ตร.กม.)
ตั้งอยู่บนพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำคงคา แม่น้ำพรหมบุตร
และแม่น้ำเมฆนา ระหว่างพรมแดนของประเทศบังคลาเทศ (81%) และรัฐเบงกอลตะวันตก
ประเทศอินเดีย (19%) ถูกขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540)
ป่าแห่งนี้เป็นถิ่นอาศัยของเสือเบงกอลหายาก
สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์น้ำ และประชาชนมากกว่า 2 ล้านคน
นอกจากจะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนแล้ว ป่าโกงกางซันดาร์บานส์ยังถูกคุกคามจากคนในพื้นที่ๆ
ประกอบอาชีพตัดไม้และทำประมง ประกอบกับมีเศษตะกอนจากเทือกเขาหิมาลัยไหลเข้ามาทับถม
องค์การยูเนสโกจึงประเมินว่าป่าชายเลนแห่งนี้อาจถูกทำลายลงถึง 75%
เมื่อสิ้นศตวรรษที่ 21
***
เดดซี
เดดซี เป็นทะเลสาบน้ำเค็มที่อยู่ระหว่างประเทศจอร์แดนและอิสราเอล
ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะ “เดด (dead)” สมชื่อ เนื่องจากปัจจุบัน ระดับน้ำได้ลดลงถึง 80
ฟุต (24 เมตร)
และเสียพื้นที่ผิวน้ำไปแล้วถึงหนึ่งในสามในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา
โดยมีสาเหตุหลักเนื่องมาจาก อิสราเอล จอร์แดน และซีเรีย
ต่างก็ผันน้ำจืดจากแม่น้ำจอร์แดน (ซึ่งเป็นแหล่งน้ำเพียงแหล่งเดียวที่จะไหลลงสู่เดดซี)
ไปใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคภายในประเทศ
ส่วนที่เหลือก็ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่
ส่งผลให้โรงแรมริมเดดซีที่สร้างขึ้นในช่วงปี 1980 (หลังปี พ.ศ. 2523)
กลายเป็นโรงแรมที่อยู่ห่างจากฝั่งเดดซีกว่า 1 กิโลเมตรในปัจจุบัน
***
ชั้นน้ำแข็งที่อาร์กติก
ปัจจุบัน ชั้นน้ำแข็งที่ปกคลุมอาร์กติก (ในซีกโลกเหนือ) เริ่มแตกออกและบางลงจนน่าใจหาย
นักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซ่าคาดการณ์ว่า น้ำแข็งที่ปกคลุมอาร์กติกจะละลายหายไปจนหมดในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า
หลายประเทศที่มีพื้นที่บางส่วนอยู่ในบริเวณดังกล่าว (เช่น แคนาดา, กรีนแลนด์ (ดินแดนของเดนมาร์ก), รัสเซีย,
สหรัฐอเมริกา (อะแลสกา), ไอซ์แลนด์, นอร์เวย์, สวีเดน และฟินแลนด์)
ตลอดจนหลายประเทศที่อยู่รายล้อมมหาสมุทรอาร์กติก (ทั้งในทวีปยุโรป เอเชีย อเมริกาเหนือ และกรีนแลนด์
รวมทั้งเกาะต่างๆ) จึงต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์
แต่หลายคนก็มองวิกฤติเป็นโอกาสจึงเตรียมสร้างท่าเรือ (น้ำอุ่น)
ที่สามารถนำเรือมาจอดเทียบท่าได้ตลอดทั้งปี (เพราะน้ำไม่กลายเป็นน้ำแข็ง)
ขณะที่บริษัทน้ำมันก็เตรียมสำรวจหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ
แม้แต่บริษัทขนส่งและเดินเรือก็เริ่มมีการวางแผนเปิดเส้นทางเดินเรือในแถบนี้เช่นกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น